วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

พิพิธภัณฑ์ นนทบุรี

อาคารไม้หลังเก่าสถาปัตยกรรมตะวันตก ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้ท่าน้ำนนทบุรี เป็นสถานที่บริหารราชการแผ่นดินให้กับชาวเมืองนนท์มาหลายยุคหลายสมัย ปัจจุบันยังคงหลอมรวมความหลากหลายของเมืองนนทบุรี บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิต วัฒนธรรม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังศึกษาในชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์จังหวัดนนทบุรี"


      ศิริพร ผลชีวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก เอ็ดดูเท็กซ์ จำกัด ผู้ดูแลออกแบบจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ เล่าว่า เดิมอาคารไม้หลังเก่าสวยงามแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นโรงเรียนกฎหมาย ของกระทรวงยุติธรรมเมื่อปี 2453 แต่ขาดแคลนบุคลากร จึงตั้งเป็นโรงเรียนราชวิทยาลัย เปิดสอนในปีพ.ศ.2454 นานถึง 14 ปี

       หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต สภาพเศรษฐกิจไม่ดี จึงยุบโรงเรียนราชวิทยาลัยรวมเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นโรงเรียน วชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้จึงไม่ได้ใช้ทำอะไร รัชกาลที่ 7 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายศาลากลางจังหวัดนนทบุรีมาอยู่ที่นี่ และใช้เป็นสถานที่บริหารราชการนานถึง 64 ปี

       ต่อมากระทรวงมหาดไทยใช้เป็นวิทยาลัยมหาดไทย ของสถาบันดำรงราชานุภาพ นาน 16 ปี เทศบาลนครนนทบุรีจึงทำเรื่องขอจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ เล่าเรื่องเมืองนนทบุรี ประวัติศาสตร์ พัฒนาการของเมืองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

       ศิริพรกล่าวต่อว่า ปัจจุบันสภาพเมืองนนทบุรีเปลี่ยนแปลงไปมาก จากสภาพพื้นที่ที่เป็นสวนผลไม้กลายเป็นบ้านจัดสรร แต่นนทบุรียังมีของดีหลายอย่าง เช่น เครื่องปั้นดินเผาเกาะเกร็ด หุ่นละครเล็ก หุ่นกระบอก มะปรางท่าอิฐ กระท้อนบางกร่าง และยังเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ นิทรรศการจะบอกเล่าเรื่องราวของชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่รวมกัน ตั้งแต่คนท้องถิ่นและชาวมอญ ที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ชาวมุสลิม และคนจีนที่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน


      ที่โดดเด่นคือชาวมอญเกาะเกร็ด แม้จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแต่ยังรักษาประเพณีและวัฒนธรรมไว้ เช่น ประเพณีสงกรานต์ การเล่นสะบ้า เครื่องแต่งกายไว้อย่างเหนียวแน่น แม้แต่อาหารพื้นเมืองที่ขึ้นชื่ออย่างทอดมันหน่อกะลา เป็นต้น

      เกาะเกร็ด ยังขึ้นชื่อเรื่องการทำเครื่องปั้นดินเผา ทั้งโอ่ง อ่าง และหม้อน้ำลายวิจิตร ขณะที่บางตะนาวศรี ทำหม้อดิน หม้อข้าว หม้อแกง ของขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันโอ่งและอ่างลดความนิยมลง จึงหันมาทำของที่ระลึก ของแต่งบ้านแทน

      "เราอยากให้คนที่เข้ามาในพิพิธภัณฑ์รู้รากทางวัฒนธรรม เข้าใจถึงที่มาที่ไปของความเป็นเมืองนนท์ และรู้ว่ายุคสมัยและเงื่อนเวลาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เขาต้องช่วยกันคิดว่า อะไรต้องคงไว้หรือทำต่อไปเป็นข้อมูลคิดต่อในอนาคต"
      ภายในพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ชั้น 1 ห้องแรกเล่าถึงเรื่องราวของชาวนนทบุรี ที่อาศัยร่วมกันหลายชาติพันธุ์ ทั้งชาวมอญ ชาวจีน มุสลิม มีเรือบดมอญ รูปร่างเพรียว จัดแสดงไว้ รวมถึงอุปกรณ์ใช้สอยทั้งในครัวเรือนและในสวน เช่น ขนาดใช้สาดน้ำให้กระจาย แครงตักน้ำรดเป็นจุด ตะขาบไล่กระรอก จำปาสอยมังคุด และตะกร้อเก็บมะม่วง

      ส่วนที่ห้องเกียรติยศแห่งนนทบุรี นำเสนอประวัติบุคคลสำคัญในวงการต่างๆ ที่แม้จะถือกำเนิดในจังหวัดอื่น แต่มาเติบโตและสร้างชื่อเสียงอยู่ในเมืองนนท์ อาทิ พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) อดีตเจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษฏิ์ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี ครูมนตรี ตราโมท ศิลปินแห่งชาติ ครูสาคร ยังเขียวสด หรือโจหลุยส์ ผู้ฟื้นตำนานหุ่นละครเล็กของไทย ร.ต.ต.กาหลง พึ่งทองคำ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ครูเฉลิม บัวทั่ง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ผู้ก่อตั้งวงดนตรีไทยศิษย์ดุริยศัพท์ และริเริ่มประดิษฐ์อังกะลุงของไทย ครูวีระ มีเหมือน ผู้ทำตัวหนังใหญ่คนเดียวของนนทบุรี ฯลฯ

      ส่วนห้องสุดท้าย เล่าถึงอดีตสู่อนาคต ความเป็นมาของโรงเรียนราชวิทยาลัย หรือ King"s College ของเมืองไทย ต่อมากลายเป็นศาลากลางจังหวัด วิทยาลัยมหาดไทย ก่อนเป็นพิพิธภัณฑ์

      บนชั้น 2 มี 4 ห้อง โดดเด่นสะดุดตาด้วยตราประจำจังหวัดนนทบุรี ห้องซ้ายสุดบอกเล่าขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผา ตั้งแต่ควายย่ำดิน ทำกลอน การขึ้นรูปขนาดต่างๆ การตกแต่งรูปทรงปั้น เล่าผ่านตุ๊กตาปั้นอากัปกิริยาต่างๆ ด้านล่างเป็นเครื่องไม้เครื่องมือใช้สอย และเตาเผาจำลอง

      ห้องขวาสุดแสดงเครื่องปั้นดินเผา เครื่องใช้ชนิดต่างๆ ให้ชื่นชม โดยเฉพาะหม้อน้ำลายวิจิตรที่เคยใช้ในพระราชพิธี รวมถึงหม้อน้ำจากหงสาวดี หม้อน้ำลายวิจิตรทรง "เนิ่ง" เครื่องปั้นที่ตกแต่งด้วยการทาสีน้ำมันและเขียนลาย


      ซึ่งเปิดให้ชมตั้งแต่วันอังคาร-ศุกร์ เวลา 09.00-17.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และนักขัตฤกษ์ เปิดเวลา 10.00-18.00 น. หรือสอบถามโทร. 08-5984-4465

      จากอาคารอายุ 100 ปีริมน้ำเจ้าพระยาที่ยังคงความงดงาม ผ่านกษัตริย์ 4 รัชกาล และกิจกรรมนับไม่ถ้วน ถึงวันนี้กลับมาทำหน้าที่เสมือนผู้อาวุโสเล่าเรื่องราวเก่าๆ ให้ลูกหลานได้ฟัง 



1) ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จังหวัดนนทบุรีนั้น เป็นจังหวัดที่มีความเป็นมาเก่าแก่ มีประวัติความเป็นมาร่วม 400 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีคูคลองน้อยใหญ่มากมาย เป็นเมืองเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านตลาดขวัญ ซึ่งเป็นสวนผลไม้ที่ขึ้นชื่อในสมัยนั้น ได้รับการยกฐานะเป็นเมืองนนทบุรีเมื่อ พ.ศ. 2092 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ บ้านตลาดขวัญเป็นดินแดนแห่งความอุดมสมบูรณ์ และเป็นสวนผลไม้ที่มีชื่อแห่งหนึ่งของกรุงศรีอยุธยา ฝรั่งต่างชาติที่ได้เดินทางเข้ามาค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุง ศรีอยุธยา ต่างก็ได้บันทึกเอาไว้ ดังปรากฏในจดหมายเหตุบันทึกการเดินทางของลาลูแบร์ ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งเดินทางเข้ามา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชว่า “สวนผลไม้ที่บางกอกนั้น (หมายถึงกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน) มีอาณาบริเวณยาวไปตามชายฝั่ง โดยทวนขึ้นสู่เมืองสยามถึง 4 ลี้ กระทั่งจรดตลาดขวัญ (TALACOUN) ทำให้เมืองหลวงแห่งนี้ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยผลาหาร ซึ่งคนพื้นเมืองชอบบริโภคกันนักหนา” คือบทความส่วนหนึ่งของ “จดหมายเหตุลาลูแบร์”
แต่ถึงกระนั้น ยังมีผู้คนอีกมายที่ไม่เคยได้รู้ถึงประวัติความเป็นมาอันเก่าแก่นี้ ไม่ใช่เพียงคนต่างพื้นที่ ต่างจังหวัด หากแต่เพียงแม้คนจังหวัดเดียวกัน ยังไม่เคยรู้ว่าจังหวัดของตนเองนั้น มีความเป็นมา และมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างไร
และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการสร้างศูนย์รวมความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และ ความเป็นมาของจังหวัด รวมถึงทั้งข้าวของโบราณต่างๆ ที่ถูกขุดค้นพบขึ้นเมื่อสมัยโบราณและปัจจุบัน มีการนำสื่อทันสมัยต่างๆนำเข้ามาใช้ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ และข้อมูลต่างๆของจังหวัดนนทบุรี
แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เป็นที่ รู้จักของบรรดาผู้คนมากมาย ว่ามีสถานที่นี้อยู่ ณ ส่วนไหนของจังหวัด หรือสถานที่นี้มีอะไร จึงทำให้สถานที่นี้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ทั้งที่สถานที่จัดงานนั้น อยู่ในความเหาะสมที่จะจัด เพราะใช้สถานที่ของศาลากลางเก่าประจำจังหวัดนนทบุรี ซึ่งใหญ่โต และสวยงาม จะว่าเหมาะสมแก่การ
ไปศึกษาประวัติความเป็นมา และวิถีชีวิตได้เป็นอย่างดี

จึงมีความคิดอยากจะทำสื่อโฆษณาออกมาเพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่แห่งนี้ ให้เป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป โดยไม่จำกัด เด็ก วัยรุ่น และคนชรา ซึ่งสามารถมารับชมเรื่องราว และสาระสำคัญในเนื้อหาของงานและเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงมีความคิดที่ว่าจะใช้เป็นสื่อแบบสิ่งพิมพ์ เพื่อที่จะสามารถรับรู้เรื่องราวข่าวสารได้โดยตรง ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อว่าจะทำให้บุคคลทั้งใน และ นอกพื้นที่จังหวัดนนท์ นั้นหันมาสนใจ และกลับมาสนใจในจังหวัดนนทบุรี

2) วัตถุประสงค์การวิจัย
- เพื่อศึกษากระบวนการออกแบบศิลปะภาพกราฟฟิคเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์พิพิธภันฑ์นนทบุรี
- เพื่อผลิตต้นแบบเหมือนจริง (PROTOTYPE) ของงานออกแบบภาพกราฟฟิคเพื่องานประชาสัมพันธ์
3) สมมติฐานการวิจัย
เกิดจากการที่ต้องการจะประชาสัมพันธ์พิพิธภัณฑ์นนทบุรี ให้เป็นที่น่าสนใจของชาวจังหวัดนนท์ และรวมไปถึงในต่างพื้นที่ เนื่องจากสถานที่นี้ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เหตุอาจมาจากเพราะว่าการนำเสนอรูปไม่มีความชัดเจน หรืออาจจะไม่ทั่วถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ผู้ที่เข้าไปชมงานนั้นมีน้อยมาก ส่วนตัวข้าพเจ้าได้เคยไปชมงานที่นี่มาแล้ว ข้าพเจ้าคิดว่าสถานที่นี้นำเสนอความเป็นมาของจังหวัดนนทบุรีได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะวิถีชาวบก หรือวิถีชีวิตทางน้ำ และเพื่อให้งานเป็นที่สนใจของผู้ชม ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การออกแบบลายกราฟฟิคที่ทันสมัยร่วมกับความเป็นไทยแบบโบราณ นำมาประยุกต์เข้าด้วยกัน จะทำให้ผลงานที่ออกมาเป็นตัวดึงดูดผู้ชมให้สนใจที่แห่งนี้ได้มากขึ้นอย่าง เห็นได้ชัด เพราะคนส่วนมากชอบอะไรที่มองเห็นได้แล้วสัมผัสได้โดยตรง อาจจะทำเป็นแผ่นโปสเตอร์ติดตามห้างสรรพสินค้า Standy ที่สามารถวางแสดงได้ตามแหล่งชุมชน ที่เป็นที่สังเกตและสนใจได้ง่าย ด้วยลวดลายที่ไม่ยุ่งเหยิงและซับซ้อน แต่จะเน้นให้สถานที่หรือรายละเอียดของที่นั่นเป็นที่สะดุดตา

4) ขอบเขตของการวิจัย
- แบบร่าง(IDEA SKETCH)
- แบบที่ทำการสรุป(CONCEPT SKETCH)
- แบบเพื่อนำไปผลิต(WORKING DRAWING หรือ ART WORK)
- ต้นแบบเหมือนจริง(PROTOTYPE)
- รายงานการวิจัยจำนวน 5 ฉบับ
- ซีดีรายงานการวิจัยจำนวน 1 ชุด

5) กรอบแนวคิดในการวิจัย
เมื่อความคิดสร้างสรรค์สื่อสารการแสดงออกผ่านทางสื่อต่างๆที่ถูกออกแบบให้ ออกมาดูทันสมัย แต่ยังคงความเรียบง่าย และดูน่าเชื่อถือ และเป็นที่สนใจแล้ว จึงทำให้สถานที่นี้เป็นเหมือนจุดเชื่อมโยงระหว่างเรากับความน่าสนใจของ จังหวัดนนทบุรี จึงจำเป็นต้องทำให้งานออกมามีความหลากหลายในชิ้นงาน ซึ่งเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยแน่นอน